วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ข้อเสนอแผนการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล



ข้อเสนอแผนการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
พ.ศ. 2552-2555
(ฉบับปรับปรุง 2 มิถุนายน 2552)
คณะทำงานติดตามและสนับสนุนนโยบาย
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
1. สถานการณ์ ประเด็นปัญหา และนโยบาย ที่เกี่ยวข้อง
1.1 ประเทศไทยมีหน่วยบริการระดับปฐมภูมิในลักษณะของสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน ครอบคลุมทุกตำบล ทั่วประเทศ ซึ่งหากได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ จะมีศักยภาพที่จะแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชน ได้เป็นอย่างดี
ประเทศไทยได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี โดยมีสถานีอนามัย/ศูนย์ สุขภาพชุมชน กระจายไปสู่ระดับตำบลทั่วประเทศและมีโรงพยาบาลชุมชน เกือบทุกอำเภอ ทั้งนี้ในระยะสิบปีที่ผ่านมา ความต้องการบริการสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนและโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทว่าสถานีอนามัย /ศูนย์สุขภาพชุมชน ส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดในด้านศักยภาพ และกลไกการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้ไม่สามารถให้บริการเชิงรุกเพื่อ “ส่งสุขภาพ” และบริการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ประชาชนจำนวนมากยังคงเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลในเขตเมือง ทำให้เกิดความแออัดในการให้บริการรักษาพยาบาล และเป็นภาระอย่างมากต่อประชาชนทั้งค่าเดินทาง และเวลาที่สูญเสียไปในการเดินทาง ทั้งที่ปัญหาสุขภาพเหล่านั้น ส่วนใหญ่ สามารถจัดการได้ในระดับสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน
1.2 หน่วยบริการปฐมภูมิหรือสถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชนส่วนใหญ่ประสบปัญหาการขาดแคลนทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องบุคลากร
จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. 2549 พบว่า สถานีอนามัย/ศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งเป็น หน่วยบริการปฐมภูมิระดับตำบล จำนวน 9,810 แห่ง มีบุคลากรเฉลี่ยแห่งละ 2.9 คน ในจำนวนนี้เพียงหนึ่งในสามหรือ 2,968 แห่ง ที่มีพยาบาลวิชาชีพประจำ ขณะที่สถานีอนามัยจำนวนมากต้องดูแลประชากร มากกว่า 5 พันคน และประมาณร้อยละ 17 ต้องดูแลประชากร กว่าหมื่นคน ในขณะที่ระบบสุขภาพยังผลิตกำลังคนได้ไม่เพียงพอและมีปัญหาในระบบการจ้างงาน ที่เป็นอุปสรรคในการจัดหากำลังคนที่เพียงพอ ต่อการให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ
1.3 พันธกรณีและเจตนารมณ์ทางการเมืองในการยกระดับหน่วยบริการระดับปฐมภูมิ
รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงนโยบายด้านสาธารณสุข ดังนี้
ข้อ 3.3.1 สนับสนุนการดำเนินการตามแนวทางของกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ โดยเร่งดำเนินมาตรการสร้างเสริมสุขภาพและลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพและการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยประสานความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากภาคีการพัฒนาในสาขาต่าง ๆ ตลอดจนภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุข ร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างแรงจูงใจ รณรงค์ให้เกิดการพัฒนาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอนามัย รวมทั้งส่งเสริมบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการผลิต และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข โดยจัดสรรทุนให้เพื่อกลับมาทำงานในท้องถิ่น
ข้อ 3.3.3 ปรับปรุงระบบบริการด้านสาธารณสุข โดยลงทุนพัฒนาระบบบริการสุขภาพภาครัฐ ทุกระดับให้ได้มาตรฐาน ยกระดับสถานีอนามัยเป็น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล และพัฒนาเครือข่ายการส่งต่อในทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพมีคุณภาพอย่างเพียงพอทั่วถึง มีทางเลือกหลากหลายรูปแบบ และครอบคลุมได้ถึงการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ
ข้อ 3.3.4 ลงทุนผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ควบคู่กับการสร้างขวัญ กำลังใจให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ มีการปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้มีรายได้จากเงินเดือน และค่าตอบแทนอื่น ๆ ที่เหมาะสม เป็นธรรม รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพด้านการแพทย์ มีการกระจายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ ตลอดจนการลงทุนพัฒนาและเชื่อมโยงระบบข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพให้ทันสมัย มีมาตรฐานสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างคุ้มค่า
เพื่อตอบสนองต่อการแก้ปัญหาและนโยบายของรัฐดังกล่าว จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ในการปรับโฉม การบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิของประเทศไทย ให้เปลี่ยนจากบริการเชิงรับมาเป็นเชิงรุก โดยเห็นสมควร จัดทำ “แผนการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พ.ศ. 2552-2555” ขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการขับเคลื่อนการดำเนินการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล

2. วัตถุประสงค์
2.1 วัตถุประสงค์ทั่วไป
เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขแบบผสมผสาน ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพที่สุด
2.2 วัตถุประสงค์เฉพาะ
1) เพื่อปรับภารกิจและยกระดับการให้บริการสุขภาพของสถานีอนามัย / ศูนย์สุขภาพชุมชน เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยให้มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค และการให้บริการปฐมภูมิที่จำเป็น
2) เพื่อพัฒนาศักยภาพของ “ทีมสุขภาพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ให้มีขีดความสามารถในการให้บริการสุขภาพแบบองค์รวม และเชิงรุก
3) เพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดบริการสุขภาพ ที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน

3. กรอบแนวคิด “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล”
3.1 คุณลักษณะของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่พึงประสงค์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นการยกระดับศักยภาพของสถานีอนามัย / ศูนย์สุขภาพชุมชน ซึ่งเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขปฐมภูมิในระดับตำบล โดยมุ่งให้มีคุณลักษณะสำคัญ ดังนี้
3.1.1 ขอบเขตการดำเนินงาน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีขอบเขตการดำเนินการบริการสาธารณสุขผสมผสาน ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งในระดับบุคคล ชุมชนและสังคม ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยมีจุดเน้นดังนี้
1) ดำเนินการเชิงรุก โดยมุ่งเข้าหาประชาชนและชุมชนเพื่อการสร้างสุขภาพเป็นหลัก รวมทั้งมุ่งจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ
2) บริการอย่างต่อเนื่องและสามารถให้คำปรึกษากับผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง โดยสามารถปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลพี่เลี้ยง หรือส่งต่อผู้ป่วยได้ตลอดเวลา ทั้งนี้อาจมีบริการเตียงนอนเพื่อสังเกตอาการโดยไม่รับผู้ป่วยไว้นอนค้างคืน และหากมีกรณีฉุกเฉิน ก็มีระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในการออกไปรับผู้ป่วยและให้การปฐมพยาบาลก่อนส่งต่อ
3) มีความเชื่อมโยงและมีส่วนร่วม โดยมีความเชื่อมโยงกับบริการสุขภาพในระดับอื่น ในการดูแลผู้ป่วยรายกรณีอย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการดำเนินงานของประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองท้องถิ่น
3.1.2 พื้นที่การทำงาน
1) มีเขตพื้นที่รับผิดชอบ (catchment area) อย่างชัดเจน
2) เปลี่ยนระบบแนวคิดโดยถือว่าพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมดเป็น “พื้นที่สำนักงาน” เช่น การใช้บ้านเป็นเรือนผู้ป่วย (home ward)
3.1.3 บุคลากรผู้ปฎิบัติงาน
1) มีความรู้และทักษะในการให้บริการผสมผสาน และมีทักษะเพิ่มเติมเฉพาะด้านด้วย
2) มีศักยภาพในการบริหารจัดการและการทำงานเป็นทีม
3) มีศักยภาพในการทำงานเชิงรุกในชุมชน
4) มีศักยภาพในการใช้และการจัดการระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ
3.1.4 การบริหารจัดการ
สนับสนุนการปฏิรูประบบการบริหารจัดการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน/ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ราชการส่วนภูมิภาค องค์กรเอกชน โดยมีเป้าหมายร่วมให้เกิดระบบที่มีความยืดหยุ่น คล่องตัว มีความยั่งยืน มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ เป็นระบบที่ชุมชนสนับสนุน กำกับดูแล และรู้สึกเป็นเจ้าของ
3.1.5 ระบบสนับสนุน (supporting system)
1) ระบบข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ
2) ระบบการปรึกษาโรงพยาบาลพี่เลี้ยงตลอดเวลา
3) ระบบเวชภัณฑ์และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ที่สอดคล้องกับโรงพยาบาลพี่เลี้ยง
3.2 บุคลากร มีบุคลากร 5-10 คนขึ้นอยู่กับภาระงานของสถานบริการ โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจะมีจำนวนบุคลากรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพตามจำนวนประชากรและภาระงานของแต่ละพื้นที่ โดยพิจารณาจากสัดส่วนของประชากรต่อเจ้าหน้าที่ประมาณ 1:1,250 คน
ทั้งนี้ อาจมีแพทย์ และบุคลากรแพทย์แผนไทย เภสัชกร ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด และนักสังคมสงเคราะห์ ไปร่วมให้บริการทั้งเต็มเวลาหรือบางเวลา ตามความจำเป็นและความเหมาะสม

4. เป้าหมายในการดำเนินการ
4.1 ระยะที่ 1 นำร่อง (เมษายน - กันยายน 2552) มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ประมาณ 1,000 แห่ง ในอำเภอหรือพื้นที่ที่มีโรงพยาบาลชุมชน / โรงพยาบาลทั่วไป ที่พร้อมสนับสนุนการพัฒนา
4.2 ระยะที่ 2 ขยายผลให้ครอบคลุม (ภายในกันยายน 2555) ขยายผลจากระยะ ที่ 1 ให้สถานีอนามัย / ศูนย์สุขภาพชุมชนอีก 1,000 แห่ง เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ภายในปี 2553 ปี
4.3 ระยะที่ 3 พัฒนาอย่างต่อเนื่องให้สมบูรณ์ ดำเนินการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง ให้มีศักยภาพในการดำเนินการได้ตามเป้าหมายและช่วงเวลาที่กำหนดในตารางที่ 2

ระยะเวลาและเป้าหมายการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ระยะที่ 1 – นำร่อง
สถานีอนามัย / ศูนย์สุขภาพชุมชนทุกแห่งในอำเภอที่มีความพร้อมรวม 1,000 แห่ง
เมษายน - กันยายน 2552
ระยะที่ 2 – ขยายผลให้ครอบคลุม
ขยายให้ครอบคลุมสถานีอนามัย /
ศูนย์สุขภาพชุมชนเพิ่มอีกจำนวน 1,000 แห่งในปี 2553 และเพิ่มเติมให้ครบ 9,000 แห่งในปี 2555
กันยายน 2553-2555
ระยะที่ 3 – พัฒนาต่อเนื่องให้สมบูรณ์
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่มีคุณภาพ
กันยายน 2562
การติดตามประเมินผลและสนับสนุนการพัฒนา
ทุกโรงพยาบาลตำบล
เมษายน 2552– กันยายน 2555

5. มาตรการ/กิจกรรมการดำเนินงาน
5.1 การดำเนินการทางนโยบาย
5.1.1 นายกรัฐมนตรีประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองในการดำเนินการเพื่อพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2552
5.2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการ
5.2.1 ปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพ และสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมชุมชนหรือวัฒนธรรมท้องถิ่น
5.2.2 จัดทำแนวทางการพัฒนาสถานีอนามัย ให้เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ
จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสำหรับผู้ปฏิบัติงาน
5.2.3 สนับสนุนนวัตกรรมในการทำงาน เช่น บริการเชิงรุกในการดูแลสุขภาพ บริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่มี อบต.เป็น first responder หรือ การใช้บ้านเป็นเรือนผู้ป่วย (home ward) โดยมีพื้นที่ทั้งตำบลเป็นโรงพยาบาล
5.2.4 ปรับรูปแบบการจัดระบบบริการให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับสภาพปัญหาสาธารณสุข ในพื้นที่ บริบทอื่นๆ ความพร้อมและศักยภาพของชุมชน เช่น
1) จัดให้มีเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครให้คำปรึกษาด้านสุขภาพนอกเวลาราชการและส่งต่อผู้ป่วย (เมื่อมีความจำเป็น) ตลอด 24 ชั่วโมง
2) จัดระบบให้สามารถปรึกษาโรงพยาบาลพี่เลี้ยงได้ตลอด 24 ชั่วโมง
3) พัฒนาและใช้ประโยชน์จากระบบข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ
4) ส่งเสริมระบบการส่งต่อและระบบการส่งกลับผู้ป่วย
5.2.5 แก้ไข กฏ ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการทำงาน
5.2.6 พัฒนารูปแบบและกลไกการเงินการคลังสำหรับสนับสนุนการดำเนินงาน
5.3 การพัฒนาบุคลากร พัฒนาศักยภาพของ “ทีมสุขภาพในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล”
5.3.1 เพิ่มกำลังคนให้เพียงพอ โดย
1) ระดมผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่ และ/หรือ ยืม/รับย้าย ผู้สมัครใจ และ/หรือ จ้างคนเพิ่ม ทั้งนี้ ให้ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วม
2) เพิ่มการผลิตบุคลากร โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการคัดเลือก การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียน และค่าจ้างเมื่อจบกลับมาแล้ว ทั้งนี้จะต้องมีการปรับปรุงหลักสูตรและระบบการเรียนในสถาบันการศึกษา รวมทั้งการศึกษาต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับบทบาทใหม่ที่กำหนดด้วย
3) ส่งบุคลากรจากสถานพยาบาลในเครือข่ายบริการระดับปฐมภูมิมาช่วยปฏิบัติงาน เป็นครั้งคราว ตามความจำเป็น รวมทั้งแพทย์ เภสัชกร และนักกายภาพบำบัด
4) ระดมความร่วมมือในพื้นที่ เช่น อสม. และประชาชน เพื่อสนับสนุนกิจกรรม การส่งเสริมสุขภาพที่มุ่งเน้นการดูแลตนเอง (self care) และครอบครัว
5.3.2 พัฒนาศักยภาพ ทั้งในระดับบุคคล กลุ่ม และเครือข่าย
1) ฝึกอบรมบุคลากร โดยเน้นบทบาทใหม่ และการสร้างทีมงาน (Health team) ทั้งนี้วิธีการควรจะมุ่งที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ของทุกคน ด้วยกระบวนการจัดการความรู้ โดยมุ่งเน้นการสร้าง “ฉันทะ” ในการทำงานเชิงรุก และ จะต้องดำเนินการให้มีระบบการพัฒนาศักยภาพเฉพาะบุคคลอย่างต่อเนื่อง
2) สนับสนุนการรวมกลุ่มและเครือข่าย เพื่อร่วมกันทำงาน ร่วมกันเรียนรู้ และร่วมกันพัฒนาศักยภาพในทุกระดับ
5.3.3 พัฒนาระบบการสร้าง “ค่านิยม” และ “แรงบันดาลใจ” ในการทำงานสุขภาพเชิงรุก และการเอาประชาชน ชุมชนเป็นหลัก โดยดำเนินการร่วมกับการสร้างระบบ “แรงจูงใจ” ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การยอมรับในสังคม การมอบรางวัล เป็นต้น
5.4 สร้างการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของชุมชน และองค์กรปกครองท้องถิ่น โดย
5.4.1 สนับสนุนการจัดตั้ง “คณะกรรมการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” โดยให้มีผู้นำที่ชุมชน เห็นชอบ เป็นประธาน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านนโยบาย สนับสนุน การดำเนินการระดม ทรัพยากร และกำกับดูแลการทำงานของโรงพยาบาลฯ
5.4.2 สนับสนุนให้การบริหารงาน “กองทุนสุขภาพชุมชน” ของสปสช.เชื่อมโยงกับการทำงานของโรงพยาบาลฯ และคณะกรรมการโรงพยาบาลฯ
5.4.3 สนับสนุนให้มีการจัด “สมัชชาสุขภาพตำบล” โดยโรงพยาบาลและคณะกรรมการฯ รวมทั้งกองทุนสุขภาพชุมชน ผู้นำชุมชน และ อปท. มีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง
5.5 พัฒนากลไกและระบบบริหารจัดการ
5.5.1 จัดตั้ง “สำนักงานบริหารเพื่อการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” (สบรต.) ขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานตรงต่อปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำหน้าที่ในการบริหาร ประสานงาน สนับสนุนการดำเนินการ และ กำกับดูแลความ ก้าวหน้าของแผนการพัฒนา รพสต. รวมทั้งแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ สำนักงานนี้จะทำหน้าที่ เป็นเลขานุการกิจของ “คณะกรรมการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนพัฒนา รพสต.” ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานและมีภาคีต่างๆเป็นกรรมการ
5.5.2 จัดตั้ง “ศูนย์บริหารการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ศบรต.)” ขึ้นในทุกสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยทำหน้าที่เช่นเดียวกับสำนักงานในข้อ 5.5.1 ในระดับจังหวัด และเป็นเลขานุการกิจของ “คณะกรรมการเร่งรัดการดำเนินการตาม แผนการพัฒนา รพสต. ระดับจังหวัด” ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน
5.5.3 ให้มีกลไกระดับอำเภอที่โรงพยาบาลพี่เลี้ยง ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วม โดยกลไกนี้สามารถ จัดตั้งให้มีลักษณะและองค์ประกอบ ตลอดจนอำนาจหน้าที่ ที่ยืดหยุ่น ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
5.5.4 จัดให้กิจกรรมการดำเนินการตามแผนพัฒนา รพสต.เป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญลำดับสูงของ ทุกเขตตรวจราชการ และ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพประจำเขต
5.6 พัฒนาการสร้างและการจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโรงพยาบาลฯ
5.6.1 สนับสนุนให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พัฒนาและดำเนินการ “ชุดโครงการวิจัยและการจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนการพัฒนา รพสต.”
5.6.2 สนับสนุนให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการดำเนินการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ระดับตำบล ในระดับจังหวัดและเขต และให้มีเวทีระดับชาติ ซึ่งให้ถือเป็นสมัชชาสุขภาพ เฉพาะประเด็น”สุขภาพชุมชน” ซึ่งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับองค์กรภาคีและเครือข่ายจะจัดขึ้นทุกปี
6. ประมาณการงบประมาณและแหล่งที่มา
6.1 งบประมาณรวม 30,877.5 ล้านบาทจากแหล่งการคลังสุขภาพหลายแหล่ง จำแนกเป็น ก) สนับสนุนจาก อปท.และชุมชนประมาณ 10,150 ล้านบาท ข) สนับสนุนจากเครือข่ายบริการปฐมภูมิ (CUP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงบเหมาจ่ายรายหัวของสปสช. ประมาณ 7083.5 ล้านบาท ค) งบปกติของกระทรวงสาธารณสุขและการจัดสรรเพิ่มเติมจากรัฐบาล 13,494 ล้านบาท และ ง) สสส. จำนวน 150 ล้านบาท
6.2 แหล่งที่มาของงบประมาณ
6.2.1 งบประมาณปกติของกระทรวงสาธารณสุข , งบจากสปสช. และงบการบริหารจัดการโครงการ 3 ปีแรก จากสสส.
6.2.2 งบประมาณจากการกู้เงิน ในโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2)
6.2.3 งบประมาณการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน/ชุมชน/เอกชน
7. การติดตามและประเมินผล
พัฒนาระบบการติดตามเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดและประเมินผลภายในและภายนอกเป็นระยะๆ ตัวชี้วัด (performance indicator) สำหรับติดตามและประเมินผล เช่น
7.1 ตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
7.1.1 ความครอบคลุม (coverage) ของบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานเพิ่มมากขึ้น เช่น การให้ภูมิคุ้มกันโรค บริการทันตกรรม การฝากครรภ์ (ANC) การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
7.1.2 การเข้าถึงบริการสุขภาพ (Access to care) ของประชาชนในระดับตำบลดีขึ้น เช่น
1) สัดส่วนของผู้รับบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลพี่เลี้ยงลดลงอย่างต่อเนื่อง
2) จำนวนผู้ป่วยที่ bypass โรงพยาบาลตำบลมาโรงพยาบาลพี่เลี้ยงลดลง
7.1.3 ผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้รับบริการดีขึ้น เช่น
1) มีการค้นพบผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายใหม่ได้มากขึ้นและเร็วขึ้น และผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอมากขึ้น เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
2) อุบัติการณ์ของภาวะแทรกซ้อนของโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด หอบหืด ลดลง
7.2 ตัวชี้วัดเชิงบริหารจัดการโครงการ
1) เกิดเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง ที่สามารถสนับสนุนให้เกิดกลไกการพัฒนางานส่งเสริมสุขภาพภายในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
2) เกิดกลไกการพัฒนา/ข้อตกลงร่วมระหว่างองค์กรต่างๆในระดับตำบลในการบริหารจัดการ ระบบสุขภาพทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพและการรักษาพยาบาล
3) จำนวนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย
8. เงื่อนไขที่สำคัญในการดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
8.1 มี strong political commitment และ policy support
8.2 หน่วยงานสนับสนุนในทุกระดับมีการจัดทำแผนเพื่อการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว
8.3 เริ่มต้นในพื้นที่ที่มีความพร้อมและสมัครใจ และชุมชนมีความกระตือรือล้นในการมีส่วนร่วม
8.4 มีการใช้กระบวนการประชาคมเพื่อปรับแนวคิดของคนในชุมชน สร้างความเข้าใจและกระตุ้น ให้เกิดความร่วมมือของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
8.5 มีการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลและภาพลักษณ์ของสถานบริการ ร่วมกับการทำงาน เชิงรุกในชุมชน
8.6 ความเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วยกัน และกับโรงพยาบาลพี่เลี้ยง
8.6.1 ระบบการส่งต่อ (referral system)
8.6.2 ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน
8.6.3 ระบบการปรึกษาทางไกล กับโรงพยาบาลพี่เลี้ยงตลอด 24 ชั่วโมง
8.6.4 ระบบยามาตรฐานเดียวกัน โดยมีการสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์ และบุคลากร ที่มีความ สอดคล้องกันระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กับ โรงพยาบาลพี่เลี้ยง
8.6.5 ระบบข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยเฉพาะรายได้
ขอบเขตการให้บริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
(ฉบับปรับปรุง 3 เมษายน 2552)
เื่นื่องจากนโยบายการจัดตั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) มุ่งเน้นการให้บริการเชิงรุกในชุมชน การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของภาระโรคที่เกิดจากโรคไม่ติดต่อและโรคเรื้อรัง ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องว่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต้องมีเตียงรับผู้ป่วยไว้พักรักษาตัวหรือต้องมีแพทย์/พยาบาลจำนวนมากในการให้บริการ จึงควรเน้นภาพลักษณ์ของ รพสต. ที่จะสื่อสารกับสังคมดังต่อไปนี้
“เป็นหน่วยบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน ที่เน้นการให้บริการเชิงรุกด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รวมทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชนที่รับผิดชอบ โดยมีประชากรกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญนอกเหนือจากประชากรทั่วไปในพื้นที่ คือ กลุ่มผู้พิการทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ กลุ่มสตรีมีครรภ์และเด็ก รวมทั้งกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยการปฏิบัติงานจะเน้นการสร้างความร่วมมือกับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเยี่ยมบ้าน การเสริมสร้างศักยภาพของครอบครัวและผู้ป่วยในการดูแลสุขภาพของตนเอง การดูแลอย่างต่อเนื่อง และการใช้เตียงที่บ้านผู้ป่วยแทนเตียงโรงพยาบาล (home ward)”
ทั้งนี้เป้าหมายและบทบาทที่สำคัญของ รพสต. จะประกอบด้วยการทำงานใน 4 ด้าน คือ ก) การทำงานเชิงรุกในชุมชน ข) การให้บริการกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีระบบการให้คำปรึกษาและส่งต่อผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ค) การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนและชุมชน และ ง) การเชื่อมต่อประสานงานระหว่างผู้ป่วย/ชุมชน กับ หน่วยบริการระดับทุติยภูมิ / ตติยภูมิ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
สำหรับกิจกรรมในการให้บริการกับประชากรกลุ่มเป้าหมายดังต่อไปนี้
ประชากรกลุ่มเป้าหมาย
กิจกรรมการให้บริการ
ที่ดำเนินการในปัจจุบัน
กิจกรรมการให้บริการที่ต้องเพิ่มประสิทธิภาพ หรือ กิจกรรมใหม่
ประชากรทั่วไป
การรักษาพยาบาลเบื้องต้น
การให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามชุดสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพ
การตรวจคัดกรองปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มประชากรเป้าหมาย
การจัดทำ family folder
บริการทันตกรรมขั้นพื้นฐาน เช่น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ,การเฝ้าระวังโรคติดต่อ
· การให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามชุดสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพ
· การส่งต่อผู้ป่วย
· การฟื้นฟูสมรรถภาพ
· การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในประชากรกลุ่มเสี่ยง
· Self care ทั้งในด้านการดูแลรักษาเบื้องต้นและดูแลต่อเนื่อง
กลุ่มผู้สูงอายุ
กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งเสนอโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
[*]
Care givers
ให้ความรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ
การส่งเสริมสุขภาพ และ การพัฒนาคุณภาพชีวิต
สนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในลักษณะ long-term careโดยมีชุมชนเป็นฐาน
· อบรมอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ โดย อผส. 1 คน ดูแลผู้สูงอายุ 5 คน
· การตรวจคัดกรองสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ตรวจสุขภาพประจำปี การประเมินความเสี่ยงต่อโรคที่สำคัญ เช่น ความดัน เบาหวาน สมองเสื่อม ฯลฯ และวัดรอบเอว เป็นต้น
· การเยี่ยมบ้านและให้บริการการดูแลต่อเนื่องแก่ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย ช่วยตัวเองไม่ได้ หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง รวมทั้งการทำกายภาพบำบัด
· จัดเวทีประชาคม เวทีเครือข่ายผู้สูงอายุ หรือ ชมรมผู้สูงอายุ เพื่อศึกษาดูงาน และทำระบบฐานข้อมูล
· มีกิจกรรมชมรมผู้สูงอายุที่เข้มแข็ง โดยอาจเน้นการพูดคุยเรื่องสำคัญ เช่น การฝึกอาชีพ และการฌาปนกิจ
· การสนับสนุนอุปกรณ์การดูแลตนเองและช่วยเหลือการทำกิจวัตรประจำวัน
เด็กแรกเกิด
Well baby clinic
การสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยวัคซีน
ส่งเสริม breast feeding และ complementary feeding
Nutrition
· Care givers
· การกระตุ้นพัฒนาการ และ growth monitoring
· การดูแลพิเศษสำหรับเด็กกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพเฉพาะ
สตรีทั่วไปและสตรีมีครรภ์
ANC & PNC
การให้อาหารเสริม
การให้เกลือไอโอดีนและยาเสริมธาตุเหล็ก
การส่งต่อไปเพื่อคลอดบุตรในโรงพยาบาลที่มีบุคลากร
การวางแผนครอบครัว
· Reproductive health
· การคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย PAP smear
· การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตนเองและโดยบุคลากรสาธารณสุข
ผู้พิการ
Rehabilitation
กา่ีรเยี่ยมบ้าน
ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพัฒนาทักษะเพื่อการประกอบอาชีพ
· กายอุปกรณ์
· กิจกรรมบำบัด
· การสร้างความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้พิการ
กลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน
อนามัยวัยรุ่น โดยเน้น
· การให้ความรู้และคำปรึกษาเรื่องเพศ
· การมีเพศสัมพันธ์อย่างรับผิดชอบและปลอดภัย เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์อันไม่พึงประสงค์
· การป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์และเอดส์
· การเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศสัมพันธ์ของกลุ่มวัยรุ่นในสถานศึกษาและในชุมชน
กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะ DM, HT และ ผู้ป่วย stroke
การติดตามการรักษาพยาบาลผ่าน คลินิกเบาหวานและความดัน
การเยี่ยมบ้าน
Screening
Continuity of primary, secondary, and tertiary care
ระบบสนับสนุน (supporting system) ในการให้บริการส่งเสริมสุขภาพและรักษาพยาบาลเบื้องต้นของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ประกอบด้วย
· ระบบ IT & Health Information System (HIS)
· Real time consultation เพื่อให้สามารถติดต่อประสานงานกับแพทย์ในโรงพยาบาลแม่ข่าย
· ระบบการส่งต่อ (Referral system)
· Emergency medical services (EMS) ในการออกไปรับผู้ป่วยฉุกเฉินหรือบาดเจ็บในพื้นที่
· เวชภัณฑ์และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ที่มีจำนวนรายการและคุณภาพเช่นเดียวกับโรงพยาบาลแม่ข่ายที่เป็น secondary care
· Community participation and empowerment รวมทั้งการทำประชาคม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการ และสนับสนุนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
กล่าวโดยสรุป cross cutting activity ที่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ต้องการจากบุคลากรของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคือ home health care & home visit โดยบุคลากรของ รสต. มีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะทางด้านวิชาการและการให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเพาะในแต่ละพื้นที่ สามารถเชื่อมโยงกับ หน่วยบริการทุติยภูมิ รวมทั้ง อสม. และผู้นำท้องถิ่นในการทำงานเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่
http://hp.anamai.moph.go.th/soongwai/statics/about/soongwai/topic005.php

ไม่มีความคิดเห็น: