วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

รายงานการประชุม“มหกรรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล จุดเปลี่ยนระบบสาธารณสุขไทย”

วันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2552 เวลา 08.00 - 15.00 น.
ณ ห้องประชุมชาเลนเจอร์ 2 เมืองทองธานี นนทบุรี
เริ่มประชุม เวลา 08.00 น. โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิดการประชุม
ช่วงที่ 1
ประธานกล่าวต้อนรับและบรรยายพิเศษ“โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล...จุดเปลี่ยนระบบสาธารณสุขไทย”ต่อจากนั้น นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ บรรยายเรื่อง นโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ต่อด้วยการอภิปรายในหัวข้อ “จากนโยบาย สู่การปฏิบัติ”จากหลายหน่วยงาน รวมถึงตัวแทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งดำเนินการโดย นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ โดยมีเนื้อหา ดังต่อไปนี้
ขอบเขตการดำเนินงาน
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีขอบเขตการดำเนินการบริการสาธารณสุขผสมผสาน ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสภาพ รวมทั้งการจัดการปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชนและสังคม ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยมีจุดเน้น ดังนี้
1. ดำเนินการเชิงรุก โดยมุ่งเข้าหาประชาชนและชุมชนเพื่อการสร้างสุขภาพเป็นหลัก รวมทั้งมุ่งจัดการปัจจัยเสี่ยงที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพ
2. บริการอย่างต่อเนื่อง สามารถให้คำปรึกษาและส่งต่อผู้ป่วยได้ตลอดเวลา โดยสามารถปรึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลแม่ข่าย หรือส่งต่อผู้ป่วยได้ตลอดเวลา
3. มีความเชื่อมโยงและมีส่วนร่วม โดยมีการเชื่อมโยงบริการสุขภาพในระดับอื่นในการดูแลผู้ป่วยรายกรณีอย่างมีประสิทธิภาพ และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองท้องถิ่น
พื้นที่การทำงาน
มีเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยใช้บ้านเป็นเรือนผู้ป่วย (home ward)
บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน
1. มีความรู้และทักษะในการให้บริการแบบผสมผสาน และมีทักษะเพิ่มเติมเฉพาะด้าน
2. มีศักยภาพในการบริหารจัดการและการทำงานเป็นทีม
3. มีศักยภาพในการทำงานเชิงรุกในชุมชน
4. มีศักยภาพในการใช้ และจัดการระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ
การบริหารจัดการ
เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ราชการส่วนภูมิภาค องค์กรเอกชนโดยมีเป้าหมายร่วมให้เกิดระบบที่มีการยืดหยุ่น คล่องตัว มีความยั่งยืน มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพและรู้สึกเป็นเจ้าของ
ระบบสนับสนุน
1. ระบบข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ
2. ระบบการปรึกษาโรงพยาบาลแม่ข่ายตลอดเวลา
3. ระบบเวชภัณฑ์และเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ที่สอดคล้องกับโรงพยาบาลแม่ข่าย
เป้าหมาย
ในงบประมาณ 2552 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน 2552 ตั้งเป้าหมายที่ 1,000 แห่ง และในงบประมาณ 2552 (1 ตุลาคม 2552 - 30 กันยายน 2553) ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มอีก 1,000 แห่ง รวมเป็น 2,000 แห่ง และเมื่อสิ้นสุดโครงการ ปี 2553 – 2555 ได้ตั้งเป้าหมายไว้จำนวน 9,762 แห่ง ทั้งนี้จะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริการ ได้แก่ ปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพและสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับบริบททางวัฒนธรรมชุมชนหรือวัฒนธรรมท้องถิ่น
การพัฒนาบุคลากร
วิธีการบริหารจัดการด้านบุคลากร
1. บุคลากรที่มีอยู่เดิม แต่มีค่าตอบแทนให้ทำงานได้เพิ่มขึ้น
2. โรงพยาบาลแม่ข่ายจัดสรรคนลงมาช่วยดูแลงานเพิ่มขึ้น
3. จ้างเพิ่ม ซึ่งจ้างได้ทั้งนักวิชาการและพยาบาล ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากส่วนต่างๆ เช่น โรงพยาบาลแม่ข่าย ท้องถิ่น
4. พัฒนาบุคลากรหรือส่งเสริมการศึกษาต่อ เพื่อกลับมาทำงาน โดยใช้งบประมาณโรงพยาบาลแม่ข่าย หรือท้องถิ่นในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียน ส่วนการจ้างงานเมื่อจบการศึกษา จะจ้างโดยโรงพยาบาลแม่ข่ายหรือท้องถิ่น ขึ้นกับการตกลงกันของคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ปัจจัยความสำเร็จในการดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
1. ผู้บริหารทุกระดับให้การสนับสนุนและติดตามพัฒนาอย่างจริงจังตามนโยบายและแผนปฏิบัติการที่กำหนด
2. หน่วยงานสนับสนุนทุกระดับมีการจัดทำแผนเพื่อการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว
3. เริ่มต้นในพื้นที่ที่มีความพร้อม ที่สมัครใจ และที่ซึ่งชุมชนมีความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วม
4. มีการใช้กระบวนการประชาคมเพื่อปรับแนวคิดของคนในชุมชน สร้างความเข้าใจและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
5. มีการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลและภาพลักษณ์ของสถานบริการ ร่วมกับการทำงานเชิงรุกในชุมชน
6. ความเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลด้วยกัน และกับโรงพยาบาลแม่ข่าย
ช่วงที่ 2
ฯพณฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ สรุปสาระสำคัญว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศคือการมีคนที่มีคุณภาพ มีสุขภาพสุขอนามัยที่ดี ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญ โดยมีการพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่าง ต่อเนื่อง นโยบายหลาย ๆ ด้านก็เป็นที่ยอมรับ แบบอย่างที่ดีในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ความสำเร็จหรือความก้าวหน้าของนโยบายด้านสาธารณสุขของไทยในอดีตที่ผ่าน คือการมีหลักประกันสุขภาพ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการรักษาพยาบาล โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยหรือไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย จนพัฒนามาเป็นการรักษาพยาบาลฟรี ซึ่งถึงวันนี้คนไทยที่เจ็บป่วยแล้วไม่มีหลักประกันนั้นมีส่วนน้อยมาก แต่ยังคงมีปัญหาเรื่องภาระค่าใช้จ่ายและปัญหาเรื่องคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลก็มีความแน่วแน่ที่จะพยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มค่าใช้จ่ายรายหัวละ 200 บาทให้ประชาชนในโครงการรักษาฟรีในปีงบประมาณ 2553 เพื่อให้ทรัพยากรในการดูแลประชาชนเรื่องการรักษาพยาบาลได้มีความเพียงพอ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แต่ในขณะเดียวกันเราก็พบความจริงว่า แม้ว่าโครงการรักษาฟรีจะมีความครอบคลุมไปถึงพี่น้องประชาชนเกือบทุกคนแล้ว แต่ประชาชนจำนวนมากยังต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องของการเดินทาง การสูญเสียโอกาสและเวลาที่ต้องเสียไปในการเดินทางมาเข้าคิวมารออยู่ตามโรง พยาบาลต่าง ๆ และภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการให้บริการรักษาพยาบาลนั้น ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในส่วนของการพัฒนาสถานพยาบาลต่าง ๆ ทำให้เห็นคิวที่ยาว เห็นผู้ป่วยที่ต้องนอนอยู่ตามระเบียง ซึ่งรัฐบาลก็กำลังแก้ไขด้วยการนำเอาเรื่องของการลงทุนไปสู่ระบบปฏิบัติการ ไทยเข้มแข็ง 2555 ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ได้มีการพัฒนาการทำงานเชิงรุกโดยมี อสม. เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยรัฐบาลได้จัดค่าตอบแทนให้ อสม. เพื่อเป็นการเสริมขวัญกำลังใจและความเข้มแข็งของระบบนี้ด้วย
" สิ่งที่เราพบอย่างหนึ่งก็คือว่า งานในส่วนของการสร้างสุขภาพกับงานในส่วนของการซ่อม ยังมีการแยกส่วนกันอยู่ รัฐบาลจึงได้ผลักดันในเรื่องโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการนำเอางานสองส่วนนี้มาบรรจบ เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ให้เกิดความเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และทำให้ เป็นลักษณะที่ครบวงจร จากการยกระดับของสถานีอนามัยตำบลที่จะกลายมาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ประมาณ 10,000 แห่ง ซึ่งขณะนี้จากสภาพพื้นที่ที่มีความพร้อม จะสามารถเปิดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลได้นับ 1,000 แห่งในเดือนหน้า ซึ่งจะเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทาง เพิ่มความสะดวกและเพิ่มบริการให้ประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกล ให้สามารถเข้าถึงบุคลากรที่จะมาช่วยดูแลสุขภาพ และยังเป็นการทำให้การทำงานในเชิงรุกมีจุดศูนย์รวมอยู่ในพื้นที่ด้วย อันเป็นความมุ่งหมายสำคัญของรัฐบาลในการสร้างจุดเปลี่ยนของระบบบริการสุขภาพ ของประเทศไทย
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การทำงานในครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญของการลงทุนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่สอง หรือไทยเข้มแข็ง ปี 2553 - 2555 ซึ่งจะมีวงเงิน 80,000 ล้านบาทมาที่กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งจะเป็นการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร เพื่อให้ระบบสาธารณสุขสามารถที่จะยกระดับมาตรฐาน นำไปสู่ความมั่นใจในเรื่องคุณภาพการให้บริการประชาชนด้วย ฉะนั้นจากนี้ไปหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องมีบทบาทสำคัญในการนำ จุดเปลี่ยนของระบบสาธารณสุขของไทย ไปสู่ระบบที่ครบวงจรเป็นเอกภาพ มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนมีความสะดวกสบาย ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้อย่างแท้จริง พร้อมกับขอขอบคุณทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมช่วยกันผลักดัน ให้การปรับเปลี่ยนสถานีอนามัยมาเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในครั้งนี้ เป็นจุดเปลี่ยนของระบบบริการด้านสาธารณสุข อันจะทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้รับการยกระดับ ซึ่งจะนำไปสู่รากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ
เมื่อเสร็จสิ้นการปาฐกถา เป็นพิธีลงนามความร่วมมือในการพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หลังจากนั้น เป็นพิธีมอบป้าย “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ให้กับตัวแทนประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์ พยาบาล
ช่วงที่ 3
ปิดงานมหกรรมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล